ค่า xG คืออะไร?

ไม่ว่าจะเป็นแฟนบอลทั่วไป หรือผู้ที่หลงใหลแทคติก แน่นอนว่าทุกคนต้องคุ้นเคยดีกับสถิติการยิงประตู แอสซิสต์ หรือจังหวะจ่ายบอลได้เสีย (Key Pass) ซึ่งทั้งหมดคือตัวเลขสำคัญในการวิเคราะห์แทคติกฟุตบอลมาโดยตลอด

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าตัวเลขทั้งหมดนั้นยังไม่สามารถเล่าเรื่องราวของเกม หรือนักเตะคนหนึ่งได้ชัดเจนมากพอ การว่าตัววัดซึ่งทำให้เห็นภาพชัดเจนจึงถือเป็นโจทย์สำคัญที่นักวิเคราะห์รวมหัวกันหาทางออกมาอย่างยาวนาน…และดูเหมือนเราจะใกล้คำตอบเข้าไปเรื่อยๆ ด้วยตัวเลขที่เรียกว่าค่า xG

ในบทความนี้เราจะไปทำความรู้จักที่มาของค่า xG หลักการคำนวณสถิตินี้ และลองดูกันว่าค่า xG สามารถบอกอะไรเราได้บ้าง เกี่ยวกับผู้เล่นในตำแหน่งศูนย์หน้า รวมถึงเหตุผลว่าทำไมสโมสรอาชีพต่างๆ ใน ยุโรป จึงหันมาให้ความสำคัญกับค่า xG เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

คือ xG คืออะไร?

xG ย่อมาจากคำว่า Expected Goals หรือความน่าจะเป็นของการได้ประตู เป็นสถิติที่ประเมินประสิทธิภาพของโอกาสยิงครั้งนั้น เป็นการคิดคำนวณแบบที่คำนึงถึงบริบทโดยรวมของเกม มากกว่าแค่เพียงว่าจังหวะนั้นยิงตรงกรอบหรือไม่

ค่า xG ประเมินประสิทธิภาพของโอกาสยิงแต่ละครั้งโดยการคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่างเช่น…

  • ระยะทางจากนักเตะถึงประตู
  • องศาระหว่างนักเตะและประตู
  • ผู้เล่นพยายามทำประตูด้วยลูกยิงจากเท้าหรือขึ้นโหม่ง
  • การเข้าทำเกิดขึ้นในจังหวะไหนของเกม (โอเพ่นเพลย์? ลูกเตะมุม? ฟรีคิก? จังหวะโต้กลับ? จุดโทษ?)
  • รูปแบบแอสซิสต์ (บอลเปิดจากริมเส้น? คัตแบกจากเส้นหลัง? จ่ายทะลุช่อง?)

เราจะได้ค่า xG หนึ่งชุด ต่อจังหวะสับไกยิงหนึ่งครั้ง

ค่า xG สูงสุดคือ 1.00 หรือ 100% เท่ากับยิงได้หนึ่งประตู และน้อยสุดคือ 0.00 หรือ 0% นั่นเอง ยิงไม่เข้านั้นเอง

ยิ่ง xG สูงเท่าไหร่ ยิ่งดี! เพราะนั่นแสดงว่าผู้เล่นคนดังกล่าวสามารถเอาตัวเองไปอยู่ในพื้นที่อันตรายได้บ่อยๆ หรืออาจแปลว่าผู้เล่นคนนั้นฉลาดเลือกพื้นที่สับไก (ยิงจากมุมที่ได้เปรียบ โดยเล็งไปยังจุดที่น่าจะได้ประตูที่สุด) ฯลฯ

(Fig. 1) จังหวะ เปโดร โรดริเกซ หลุดเดี่ยวในเกมพบ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด (credit: Optasports)

Fig. 1 ด้านบนคือตัวอย่างจากเกม เชลซี ปะทะ นิวคาสเซิ่ล ยูไนเต็ด ที่ เปโดร โรดริเกซ หลุดเดี่ยวเข้าไปยิง และแม้เขาจะอยู่ใกล้ปากประตู แต่ด้วยองศาที่แคบ (ผู้รักษาประตูปิดมุมดี) เท่ากับค่า xG ของ เปโดร คำนวณออกมาอยู่ที่ 0.35 หรือ 35% เท่านั้น จึงไม่น่าแปลกที่ เปโดร เปลี่ยนโอกาสนี้เป็นสกอร์ไม่ได้ แม้ดูผิวเผินนี่อาจจะเหมือนโอกาสง่ายๆ ก็ตาม

(Fig. 2) วัดจาก xG เอ็มเร่ ชาน ไม่ควรลองยิงไหลในจังหวะนี้ (credit: Optasports)
(Fig. 3) โคเน่ ลามีน ซัดจ่อๆ หน้าปากประตู = xG สูง! (credit: Optasports)

จังหวะยิงไกลของ เอ็มเร่ ชาน ใน Fig. 2 มีค่า xG เพียง 0.02xG (2%) เพราะมิดฟิลด์ ลิเวอร์พูล อยู่ค่อนข้างไกลจากประตู บวกกับองศาลูกยิงที่แคบ (ชาน เล็งไปที่เสาแรก ซึ่งผู้รักษาประตูยืมปิดมุมไว้อยู่แล้ว) เท่ากับ ชาน ต้องเสี่ยงยิงแบบนี้ 50 ครั้งเพื่อให้ได้ 1 ประตู

ในทางตรงกันข้าม Fig. 3 คือตัวอย่างในจังหวะลูกเตะมุม ที่บอลบังเอิญหล่นตรงปากโกลพอดี เป็นโอกาสทองให้ โคเน่ ลามีน ซัดจ่อๆ แบบไม่มีใครขวาง ค่า xG จึงสูงถึง 0.91 (91%)

(Fig. 4) 5 อันดับสโมสร พรีเมียร์ลีก ที่มีค่า xG สูงสุด

ไม่เพียงแต่กับนักเตะรายบุคคลเท่านั้น แต่นักวิเคราะห์ยังนำค่า xG มาบวกรวมกันเพื่อวัดประสิทธิภาพจังหวะจบสกอร์ของทีมโดยรวม อย่างที่เห็นใน Fig. 4 ซึ่ง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีค่า xG 102.21 แสดงถึงความเป็นไปได้ที่จะได้ประตูสูง ซึ่งเป็นผลจากการสร้างสรรค์โอกาสจบที่มีประสิทธิภาพ (กองหน้าได้ยิงในพื้นที่อันตราย ฯลฯ)

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ยิงได้ 102 ประตูจากค่า xG 102.21 หมายความว่าพวกเขาเปลี่ยนโอกาสเป็นสกอร์ได้อย่างน่าพอใจ เช่นเดียวกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ xG คาดว่าต้องยิงได้ 66 และก็ทำได้ตามเป้า

ในขณะเดียวกัน Fig. 4 บอกเราว่า ลิเวอร์พูล และ เลสเตอร์ ซิตี้ ยิงเยอะกว่าที่ค่า xG วิเคราะห์ไว้ ตรงกันข้ามกับ เชลซี ที่ประสิทธิภาพการจบสกอร์ต่ำกว่า xG มาก บ่งบอกถึงปัญหาศูนย์หน้าที่รบกวน แฟร้งค์ แลมพาร์ด มาตลอดฤดูกาล

xG บอกอะไรเกี่ยวกับผู้เล่นตำแหน่งศูนย์หน้าบ้าง?

การคำนวณโดยใส่ตัวแปลที่ซับซ้อนกว่าแค่สถิติยิงตรงกรอบหรือไม่ เท่ากับ xG สามารถเล่าเรื่องราวที่มีมิติกว่าสถิติรูปแบบเดิม 

ยกตัวอย่างหากผู้เล่น A มีค่า xG เยอะกว่าจำนวนประตู เราก็อาจสันนิษฐานได้ว่าผู้เล่น A เป็นคนจบสกอร์ไม่คม หรือกำลังฟอร์มตก

กลับกันหากผู้เล่น A ยิงประตูเยอะกว่าค่า xG สันนิษฐานได้ว่าเขาคือเพชฌฆาตที่แม้จริง หรือกำลังอยู่ในฟอร์มที่ร้อนแรงเป็นพิเศษ

จากตัวอย่างที่ยกมาด้านบน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่สโมสรต่างๆ จะใช้ xG เป็นค่าวัดผลว่ากองหน้าคนไหน “ยิงคม” กว่ากัน เกณฑ์การวัดที่มีน้ำหนักกว่าแค่เปอร์เซ็นยิงตรงกรอบเฉยๆ 

(ผู้เล่น A กับ B อาจมีโอกาสยิง 2 ครั้ง และตรงกรอบ 100% เหมือนกัน ต่างกันแค่ A ยิงจากนอกเขตโทษทั้งหมด ในขณะที่ B ยิงจากข้างในเขตโทษล้วนๆ ค่า xG)

(Fig. 5) 10 อันดับผู้ทำประตูสูงสุด พรีเมียร์ลีก ฤดูกาล 2019/20 และค่า xG จาก Understat.com

หากดูที่ Fig. 5 จะเป็นว่าในเหล่าดาวยิง พรีเมียร์ลีก ทุกคนล้วนทำประตูได้ใกล้เคียงหรือสูงกว่าค่าความน่าจะเป็นประตูของตัวเองทั้งนั้น มีแค่ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ กับ มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่ยิงได้น้อยกว่า xG ที่คำนวณเอาไว้

เทียบค่า xG กับจำนวนประตูที่พวกเขาทำได้ ซาลาห์ น่าจะยิงได้เยอะกว่าที่ทำได้ตอนนี้ประมาณ 1 ลูกครึ่ง ส่วน แรชฟอร์ด ขาดไปประมาน 2 ลูกครึ่ง จนอาจพูดได้ว่า ซาลาห์ กับ แรชฟอร์ด คือพวกจบสกอร์ไม่คมสักเท่าไหร่

ทว่าอย่างหนึ่งที่เราต้องยกเครดิตให้ทั้งคู่คือการสร้างโอกาส หาช่อง หาจังหวะยิงได้มีประสิทธิภาพกว่าตัวรุกในกลุ่มเดียวกันหลายคน เห็นได้จากค่า xG 20.66 (ซาลาห์) และ 19.50 (แรชฟอร์ด) ซึ่งสูงกว่าคู่แข่งอย่าง แฮรี่ เคน (13.30), อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล (13.24) หรือแม้กระทั่งดาวซัลโวประจำฤดูกาลอย่าง เจมี่ วาร์ดี้ (18.90)

ซาลาห์ หาจังหวะจบสกอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้เขาจะไม่คมเท่าที่ควรก็ตาม

สโมสรใช้ค่า xG ทำอะไรได้บ้าง?

อย่างที่กล่าวไปแล้ว xG มีประโยชน์มากสำหรับสโมสรต่างๆ เมื่อต้องวิเคราะห์ประสิทธิภาพการจบสกอร์ของนักเตะ และแน่นอนว่านี่คือหนึ่งในสถิติสำคัญที่สโมสรคํานึงถึงเวลามองหน้านักเตะใหม่ ทว่าค่า xG ยังมีประโยชน์อย่างมากในการวิเคราะห์สไตล์การเล่นของศูนย์หน้าสักคน

ยกตัวอย่าง เราสามารถแบ่งบรรดาดาวยิงจาก Fig. 5 ออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่…

กลุ่มที่ 1: พวกจอมถล่มประตู หาโอกาสเข้าทำพอใช้ได้ แต่เน้นหากินด้วยจังหวะจบสกอร์อันคมกริบ ยิงเยอะกว่าค่า xG ค่อนข้างมาก (เจมี่ วาร์ดี้, ปิแอร์ เอเมริค โอบาเมยอง & แดนนี่ อิงส์)

กลุ่มที่ 2: เลือกจังหวะยิงและหาโอกาสเข้าทำไม่ดีเท่ากลุ่มที่ 1 แต่ทดแทนด้วยการจบสกอร์อันคมกริบ (แฮรี่ เคน, อ็องโตนี่ มาร์กซิยาล & ซาดิโอ มาเน่)

กลุ่มที่ 3: อยู่ถูกที่ถูกเวลาเป็นประจำ มีโอกาสจบสกอร์เน้นๆ บ่อยๆ ไม่ว่าจะสร้างสรรค์เองหรือจากเพื่อนร่วมทีมก็ตาม แต่ไม่คมเท่ากลุ่มที่ 1 และ 2 (โมฮาเหม็ด ซาลาห์ & มาร์คัส แรชฟอร์ด)

กลุ่มที่ 4: ฉลาดหาโอกาสเข้าทำ จบสกอร์แม่นยำกว่ากลุ่มที่ 3 แต่ไม่คมเท่ากลุ่มที่ 1 และ 2 ยิงได้ใกล้เคียงกับจังหวะที่ได้มา (ราฮีม สเตอร์ลิ่ง & ราอูล ฆิเมเนซ)

หากคุณเป็นประธานเทคนิคซึ่งกำลังมองหากองหน้าคนใหม่มาเสริม คุณก็อาจใช้ค่า xG เหล่านี้ช่วยวิเคราะห์ เลือกหาคนที่มีสไตล์ตอบโจทย์ทีมของคุณที่สุด

หากทีมของคุณสร้างโอกาสได้ไม่มากนักในแต่ละเกม ก็อาจเลือกซื้อกองหน้ากลุ่มที่ 1 ซึ่งเปลี่ยนโอกาสเป็นประตูได้มากกว่าค่า xG มาร่วมทีม แต่ทางตรงกันข้ามหากทีมของคุณสร้างโอกาสได้เยอะ จ่ายถวายพานให้ตัวจบสกอร์ได้บ่อยๆ ก็อาจจะช้อปจากกลุ่ม 4 เลือกคนที่มีมาตรฐานเอามาไว้ให้ชัวร์ๆ

xG คือสถิติที่น่าสนใจ และมีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงไว้เสมอคือสถิติที่สมบูรณ์แบบไม่มีอยู่จริง จะเห็นภาพเราจำเป็นต้องเปรียบเทียบกับตัวเลขอื่นๆ เช่นเดียวกับในบทความนี้ที่เรานำ xG มาเทียบกับจำนวนประตูรวมทั้งหมด เพื่อวิเคราะห์สไตล์การเล่นของนักเตะคนนั้นๆ

ต่อไปนี้ แทคติกไทม์ คงใช้ xG เพื่อประกอบการวิเคราะห์เกมหรือการเล่นมากขึ้น เพื่อเพิ่มมิติ และเริ่มบทสนทนา แลกเปลี่ยนมุมมองแทคติกกันได้สนุกสนานยิ่งขึ้น ขอบคุณครับ


xG90: ค่า xG ต่อ 90 นาที ใช้เพื่อให้เห็นภาพต่อเกมกว่า xG ซึ่งเป็นสถิติที่เก็บสะสมตลอดฤดูกาลหรือระยะเวลาหนึ่ง

xA: ย่อมาจาก Expected Assist หมายถึงความน่าจะเป็นของการได้แอสซิสต์ เป็นสถิติที่ประเมินประสิทธิภาพของโอกาสแอสซิสต์ครั้งนั้น เป็นการคิดคำนวณแบบที่คำนึงถึงบริบทโดยรวมแบบเดียวกับค่า xG

Leave a comment